วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

ตัวอย่างและแนวทางการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์

ชื่อเรื่องวิจัย เรื่องการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยนาท

ชื่อผู้วิจัย ประชิด ทิณบุตร และคณะ
ปีที่วิจัย 2558
บทคัดย่อ  | Download >  Abstract @ ResearchGate.net

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อออกแบบพัฒนาปรับปรุงมาตรฐานและคุณภาพด้านตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าด้านสุขภาพและความงาม ของผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในเขตจังหวัดชัยนาท ให้สามารถดำเนินการผลิต บรรจุและจัดจำหน่ายในท้องตลาดได้จริง 2) เพื่อประเมินความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างประชากร ที่มีต่อประสิทธิภาพผลงานการออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์ และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์สินค้าที่ได้พัฒนาขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการศึกษาวิจัยแบบพัฒนาทดลองตามหลักการและกระบวนการออกแบบสร้างสรรค์ และการวิจัยแบบมีส่วนร่วมจำนวน 8 ราย โดยมีการประเมินมาตรฐาน คุณภาพและประสิทธิภาพ จากตัวแทนของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 5 กลุ่ม อันได้แก่ กลุ่มตัวอย่างในฐานะของกลุ่มผู้ประกอบการ นักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา/นักวิจัย นักวิชาการพัฒนาชุมชน/เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ นักออกแบบกราฟิกอัตลักษณ์/นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ และตัวแทนของกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป โดยวิธีการเลือกแบบเจาะจงเลือกและการเลือกแบบบังเอิญ รวมจำนวนทั้งสิ้น 104 คน เก็บรวบรวมข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการนำเสนอผลงานแบบกลุ่มย่อย การสอบถามความคิดเห็นทั้งโดยตรงและแบบออนไลน์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลจากการวิจัยพบว่าผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม ของผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมทั้ง 8 ราย ภาพรวมด้านมาตรฐานอัตลักษณ์และคุณภาพการออกแบบตราสัญลักษณ์ ด้านมาตรฐานและคุณภาพการออกแบบรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ และด้านภาพรวมของสื่อการรับรู้ที่เชื่อมโยงถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดชัยนาท โดยใช้อัตลักษณ์จังหวัดชัยนาทเป็นสื่อสร้างสรรค์คือ วัด นก เขื่อน เป็นองค์ประกอบร่วมนั้น เป็นผลงานการออกแบบที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่เป็นไปตามตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยรวมทั้งหมดอยู่ที่ 4.70 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.52 โดยที่ผู้วิจัยได้มอบวัสดุเพื่อการผลิต การบรรจุภัณฑ์ งานสื่อสิ่งพิมพ์ และไฟล์ต้นแบบดิจิตัลที่มีลิขสิทธิ์ทั้งหมด บันทึกลงแผ่นดีวีดีมอบให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละรายที่เข้าร่วมโครงการวิจัย และได้นำเสนอเผยแพร่องค์ความรู้ สาระสำคัญตัวอย่างผลงานที่เกิดจากการวิจัยครั้งนี้ไว้ที่เว็ปบลอกชื่อที่อยู่ http://chainatbrand.blogspot.com

คำสำคัญ : การออกแบบพัฒนาตราสัญลักษณ์และรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จังหวัดชัยนาท